การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร
SURGICAL ORTHODONTICS
การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน คือการจัดระเบียบฟันให้อยู่ในแนวที่ถูกต้องในขากรรไกร การรักษานี้มีขอบเขตจำกัด ได้ผลดีในกลุ่มของคนไข้ที่มีความผิดปรกติที่เกี่ยวกับฟัน (Dental Malocclusion) เท่านั้น และมีความรุนแรงไม่มากนัก
แต่ในคนไข้หลายรายที่มีความผิดปกติของขากรรไกรร่วมไปด้วย (Dental and Skeletal Malocclusion) เช่น มีขนาดของขากรรไกรบนและล่างที่ไม่ได้สัดส่วนกัน หรือตำแหน่งอยู่ต่างกันมาก คนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอายุมาก ต้องการการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร (Surgical Orthodontics)
หลายรายที่มีการสบฟันผิดปรกติในระดับปานกลาง ทันตแพทย์จัดฟันสามารถให้การรักษาโดยการเคลื่อนฟันบน และฟันล่างให้มาพบกัน (Compensatory tooth movement) ในกรณีเช่นนี้ฟันหน้าจะเอียงทำมุมยื่น หรือหุบมากเกินไป ในบางรายก็อาจใช้การถอนฟันแท้ ออก 4 ซี่ร่วมด้วย เรียกการรักษาลักษณะนี้ว่า Camouflage Treatment
Camouflage Treatment
ทันตแพทย์จัดฟันมักได้รับการขอร้องจากคนไข้หรือ ผู้ปกครองให้ช่วยทำการรักษา โดยการหลีกเลี่ยงศัลยกรรมเรียกว่า Camouflage treatment โดยใช้การถอนฟันแท้ออก 4 ซี่ ใช้ประโยชน์จากช่องว่างที่เกิดขึ้น มาทำการดึงฟันหน้าบนที่ยื่น ให้หุบลงมากๆ เพื่อให้ฟันหน้าบนและล่างมาพบกัน การรักษาแบบนี้มีขอบเขตจำกัด บางรายอาจเกิดปัญหาของข้อต่อขากรรไกรตามมา จริงอยู่ที่ทันตแพทย์จัดฟันสามารถให้การรักษาแบบนี้ในคนไข้ บางรายได้ แต่จะต้องใช้เวลามาก เช่น 2-3 เท่าของกรณีปรกติ หลายรายก็ไม่อาจให้การรักษาได้เลย และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ แม้ว่าการรักษาจะดำเนินไปถึง 4 -5 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทราบว่าการรักษาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร (Surgical Orthodontics) อาจเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของท่าน
ผลข้างเคียงของการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันต่อฟันและกระดูกขากรรไกรที่สามารถแก้ไขได้
ได้แก่ การเกิดเหงือกอักเสบ การเกิดฝีในเหงือก มีฟันผุ มีฟันโยกจากการสบฟันกระแทก และ ความผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร เช่น มีเสียงคลิก Clicking ขณะอ้าและหุบปาก เป็นต้น
ผลข้างเคียงของการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันต่อฟันและกระดูกขากรรไกรอย่างถาวร
ได้แก่ การละลายของรากฟัน และกระดูกขากรรไกร การร่นตัวของเหงือกทำให้ฟันยาวขึ้น การร่นตัวลงของเนื้อเยื่อเหงือกระหว่างซอกฟันทำให้เกิดเป็นช่องว่างที่เรียกกันว่า Black Triangle ที่ร้ายที่สุดก็คือ อาจจะมีฟันตายเกิดขึ้น เป็นต้น
จุดประสงค์ของการทำการการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร
1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสบฟัน การสบฟันที่ดีจะทำให้ท่านสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดี ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การสบฟันมิได้ทำงานโดย การอาศัยฟันบนและฟันล่างมาสบกันในภาวะนิ่งเท่านั้น (Static Occlusion ) เราต้องคำนึงถึงการสบฟันในสภาพเคลื่อนไหว การยื่นคางไปข้างหน้า การเยื้องคางไปทางซ้ายและขวา ( Functional Occlusion – Protrusion – Rt. & Lt. Lateral Movement ) นอกจากนี้การสบฟันจะต้องเป็นการทำงานที่สัมพันธ์กับ ข้อต่อขากรรไกรซ้ายขวา และกล้ามเนื้อหลายมัดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระบบหลอดโลหิตและระบบประสาทสั่งงาน
ในกรณีที่คนไข้ มีขากรรไกรบน ล่าง ที่ไม่ได้ขนาดสมส่วนกัน จะทำให้ฟันบางซี่ หรือหลายซี่สบกันได้ไม่ถูกต้อง แม้จะเคลื่อนฟันไปจนสุดระยะบนขากรรไกรแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดการสบฟันได้ หากเคลื่อนฟันต่อไปอีก ฟันก็จะตกหรือหลุดออกจากสันเหงือกหรือขากรรไกร ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อ ฟัน และ เนื้อเยื่อรอบๆฟัน ดังนั้นจึงต้องมีการนำศัลยกรรมขากรรไกรมาช่วยปรับให้ขากรรไกรมีขนาด และตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การเคลื่อนฟัน
คนไข้ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมีฟันล่างครอบฟันบน หรือขากรรไกรล่างมีขนาดยาวผิดปกติ เมื่อเทียบกับขากรรไกรบน ที่เรียกว่า Class III Skeletal Malocclusion มักจะมีปัญหาในการบดเคี้ยวอย่างมาก หลายรายต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ชื่นชอบบางชนิด บางรายไม่สามารถบดเคี้ยวได้อย่างปรกติ จึงใช้วิธีกลืนอาหารที่ยังบดเคี้ยวไม่เสร็จ ทำให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยการบดเคี้ยวในปาก คนไข้เหล่านี้อาจให้ประวัติท้องอืดท้องเฟ้อเรื้อรัง และใช้ยาช่วยย่อยเป็นระยะเวลายาวนาน
2. แก้ไขความผิดปรกติของการหายใจ (Mouth Breather) คนไข้ที่มีการหายใจที่ผิดปกติ หรือหายใจทางปาก มีจมูกและทางเดินอากาศส่วนต้น ตีบตัน (Upper Respiratory Tract Obstruction Syndrome) หรือมีสันจมูก หรือ ผนังกั้นจมูกคด มีอาการแพ้อากาศหรือผงฝุ่นเรื้อรัง ( Chronic Allergic rhinitis) มีต่อม Tonsil และ Adenoid อักเสบ เป็นหวัดตลอดปี และอายุไม่เกิน 16 ปี สามารถแก้ไขได้ หรือช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวข้างต้นได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผลของการหายใจทางปาก ในขณะที่เด็กยังมีการเจริญเติบโต จะทำให้ขากรรไกรเจริญเติบโตผิดปรกติไปด้วย หลายรายมีลิ้นยื่นออกมาอยู่ระหว่างฟันหน้าบนและล่าง ทำให้มีพัฒนาการของการสบฟันไปเป็นการสบฟันแบบเปิด –นั่นคือ คนไข้ไม่สามารถกัดฟันหน้าได้ (Open Bite) (see photo)
คนไข้ประเภทนี้สามารถให้การรักษาได้โดยการทำการขยายขากรรไกรบน หรือเพดาน แบบเร่งด่วนโดยใช้เครื่องมือ Rapid Maxillary Expander (RME) จะช่วยให้คนไข้กลับมาหายใจทางจมูกเป็นปรกติได้ และจะช่วยให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน เพื่อแก้ไขการสบฟันแบบเปิดได้ผลดีด้วย
สำหรับคนไข้ที่อายุเกิน 16 ปี ก็สามารถแก้ไขได้ หรือช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวข้างต้นได้ โดยการทำศัลยกรรมขากรรไกรบน เพื่อลดแรงต้านจากกระดูกร่วมกับการขยายเพดาน หรือขากรรไกรบนแบบเร่งด่วน (RME) จะช่วยให้คนไข้กลับมาหายใจทางจมูกเป็นปรกติได้ และจะช่วยให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน เพื่อแก้ไขการสบฟันแบบเปิดได้ผลดีด้วย
สำหรับคนไข้ที่อายุประมาณ 30 ปีหรือมากกว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ว่าจะทำการศัลยกรรมขากรรไกรก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะรอยต่อต่างๆ ของกระดูกขากรรไกรบนได้ประสานปิดตัวลง ทำให้เกิดการรวมขากรรไกรบนเป็นกระดูกชิ้นเดียว
3. เพื่อเพิ่มความสวยงาม การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเพื่อแก้ไขการสบฟัน จะทำให้เกิดความสวยงามด้วย ทำให้การยิ้มทำได้ด้วยความมั่นใจ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น เพิ่มบุคลิกภาพ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร ยังสามารถทำให้ท่านมีสัดส่วนของใบหน้าที่ดีขึ้นได้ด้วย (Balanced Facial Proportion )
คนไข้ที่ยิ้มแล้วเห็นเหงือกมาก ( Gummy Smile) (see photo) สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้ศัลยกรรม ถ้าหากมีอายุ ประมาณ 10 – 13 ปี โดยใช้เครื่องมือพิเศษและใช้แรงที่เรียกว่า Orthopedic Force แต่สำหรับคนไข้ที่อายุมาก เช่น 18 ปีขึ้นไป ก็สามารถแก้ไขได้โดยการให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกรบน เมื่อขากรรไกรบนถูกตัดออกและ ถูกนำไปวางในตำแหน่งใหม่ โดยการเลื่อนขึ้นไปด้านบน ประมาณ 5-6 ม.ม. ก็จะทำให้สามารถซ่อนเหงือกไว้ด้านในหลังริมฝีปากบนได้ ทำให้การยิ้มมีความสวยงามเพิ่มขึ้นอีกอย่างมาก
คนไข้ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมีฟันล่างครอบฟันบน หรือขากรรไกรล่างมีขนาดยาวผิดปกติ เมื่อเทียบกับขากรรไกรบน ที่เรียกว่า Class III Skeletal Malocclusion การใช้ Orthopedic Force เพื่อดึง ฟันบนและ ขากรรไกรบนให้ออกมาครอบ ฟันล่างหรือขากรรไกรล่าง ใช้ได้ผลดีในคนไข้ที่มีอายุ ประมาณ 10 ปี การรักษานี้เป็นการรักษาในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และ มีโอกาสสำเร็จสูง สามารถช่วยคนไข้ มิให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกรได้หลายราย สำหรับคนไข้ส่วนใหญ่แล้วมักจะโชคไม่ดี เมื่อมาถึงมือแพทย์ ก็มีอายุมาก เช่นเลย 14 ปีขึ้นไปแล้ว แต่ถ้าความผิดปรกตินั้นไม่รุนแรงมาก ก็ยังสามารถแก้ไขได้โดยการให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันอย่างเดียว ( อ่านรายละเอียดในหัวข้อ Camouflage treatment )
คนไข้ที่มาถึงมือทันตแพทย์เมื่ออายุมาก และการเจริญเติบโตได้สิ้นสุดลงแล้ว เช่น 17 ปีในเพศหญิง หรือ 19 ปี ในเพศชาย ทันตแพทย์สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร การทำศัลยกรรมส่วนใหญ่จะกระทำในขากรรไกรทั้งบน และล่าง โดยการดึงขากรรไกรบนออกมาข้างหน้า (Advancement) ร่วมกับการถอยขากรรไกรล่างเข้าไป (Set back) ซึ่งจะให้ผลดีกว่า มีความเสถียรกว่า (better Stability)
การทำศัลยกรรมในขากรรไกรล่างแต่เพียงอย่างเดียว หรือศัลยแพทย์ที่พยายามที่จะกระทำศัลยกรรมในขากรรไกรล่าง และถอยหลังแต่เพียงอย่างเดียว จะก่อให้เกิดการคืนตัว ของตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Relapse) อย่างรวดเร็วหลังศัลยกรรม
Class II Skeletal Malocclusion (see photo)
คนไข้ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปรกติ มีฟันบน ครอบฟันล่างมากๆ หรือฟันบนยื่นมากๆ หรือขากรรไกรล่างมีขนาดเล็กผิดปรกติ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ถอยไปด้านหลังมากเมื่อเทียบกับขากรรไกรบน ที่เรียกว่า Class II Skeletal Malocclusion สามารถใช้แรง Orthopedic Force เพื่อดึงให้ขากรรไกรบนชลอการเจริญเติบโตลง และปล่อยให้ ขากรรไกรล่าง มีการเร่งการเจริญเติบโต แต่การรักษานี้ จะใช้ได้ผลดี ในคนไข้ที่มีอายุ ประมาณ 10 ปีเท่านั้น การรักษานี้มีโอกาสสำเร็จสูง และสามารถช่วยคนไข้ มิให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกรได้หลายราย
ในกรณีที่ความผิดปรกติมีความรุนแรงไม่มากนัก เมื่อมาถึงมือทันตแพทย์ แม้จะมีอายุมาก เช่นมีอายุมากกว่า 18 ปี ก็ยังสามารถแก้ไขได้โดยการให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแต่เพียงอย่างเดียว ( อ่านรายละเอียดในหัวข้อ Camouflage treatment )
กรณีที่มีความรุนแรงมาก เช่น มีช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่าง (Overjet) ถึง 8 ม.ม. ก็อาจจะต้องให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร การทำศัลยกรรมส่วนใหญ่จะกระทำทั้งในขากรรไกรบน และล่าง โดยการถอยขากรรไกรบนเข้าไป (Set back) ร่วมกับการดึง ขากรรไกรล่างออกมาข้างหน้า (Advancement) ซึ่งจะให้ผลดีกว่า (better Stability) ความพยายามที่จะกระทำศัลยกรรมในขากรรไกรล่างโดยการยืดออกมาแต่เพียงอย่างเดียว การทำศัลยกรรมในขากรรไกรล่างแต่เพียงอย่างเดียว จะก่อให้เกิดการคืนตัว ของตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Relapse)
4. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพูดออกเสียง การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน สามารถทำให้บุคคลที่พูดออกเสียงไม่ชัด เช่น เสียง พยัญชนะ “พ” และ “ส” อันเป็นผลมาจากการมีฟันห่าง หรือ ฟันล่างครอบฟันบน (Class III Skeletal Malocclusion) สามารถมีการออกเสียงที่ดีขึ้นได้ ภายหลังการรักษา
5. เพื่อลดระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา (Treatment Time) ให้เป็นที่ยอมรับได้ หลายครั้งที่ ทันตแพทย์จัดฟันได้รับการขอร้องจากคนไข้หรือ ผู้ปกครองให้ช่วยทำการรักษา โดยการหลีกเลี่ยงศัลยกรรม (อ่านรายละเอียด ในหัวข้อ Camouflage Treatment)
แม้ว่าอาจจะทำได้ในบางราย แต่ก็ต้องใช้เวลาในการรักษานานมากๆ ซึ่งอาจจะเป็น 2 – 4 เท่าของเวลาที่ใช้ในการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร
บางรายไม่อาจให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันแต่เพียงอย่างเดียวได้เลย และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ แม้ว่าการรักษาจะดำเนินไปถึง 4 – 5 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทราบว่าการรักษาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นต้น การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร (Surgical Orthodontics) เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของท่าน การรักษานี้ใช้เวลาระหว่าง 9 – 24 เดือนโดยสามารถให้การพยากรณ์เวลาที่ใช้ในการรักษาได้ใกล้เคียงมากกว่าการรักษาแบบอื่น
6. เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของการสบฟันหลังการรักษา ( Post-Treatment Stability) บ่อยครั้งที่ ทันตแพทย์จัดฟันพยายามทำการรักษา โดยการหลีกเลี่ยงศัลยกรรม และจบการรักษาในลักษณะ ประนีประนอม ( Compromised Treatment) กล่าวคือ ผลการรักษาไม่ดีนัก แต่ก็ยอมรับได้ จากประสบการณ์ และผลการศึกษาระยะยาวแสดงให้เห็นว่า ผลการรักษาเหล่านี้ ไม่มีความคงสภาพเหมือนหลังการรักษาใหม่ๆ บางรายอาจทำได้ แต่ก็ใช้เวลามากจริงๆ และเกิดผลข้างเคียงถาวรต่อฟัน, รากฟัน และกระดูกรอบๆรากฟัน การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร ( Surgical Orthodontics ) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคนิคที่ให้ความคงสภาพเหมือนหลังการผ่าตัดใหม่ๆ (Post-Treatment Stability) เหนือกว่าการใช้เทคนิคเดิมๆที่มุ่งหวังที่จะหลบศัลยกรรมเพียงอย่างเดียว
7. ในแง่ของการป้องกัน การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร สามารถทำให้คนไข้ที่มีฟันเกมากๆ ยากแก่การทำความสะอาด ( Severe Dental and Skeletal Malocclusion ) หรือคนไข้ที่มีอายุมากๆ ให้มีโอกาสได้รับการรักษา มีการจัดเรียงตัวของฟันที่ถูกต้อง ทำให้สามารถทำความสะอาดได้ดี ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเหงือก ฟัน และความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรได้ คนไข้ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปรกติ มีฟันล่างครอบฟันบน หรือขากรรไกรล่างมีขนาดยาวผิดปรกติ เมื่อเทียบกับขากรรไกรบน ที่เรียกว่า Class III Skeletal Malocclusion คนไข้เหล่านี้ จะพบกับความลำบากในภายหลังเมื่อต้องการใส่ฟันปลอม ดังนั้นการตัดสินใจทำการรักษา ทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร เสียแต่ต้น ในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นการลดความยุ่งยากในการใส่ฟันปลอม ที่จะตามมาในอนาคตได้
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร
1. การรักษานี้ ก็เหมือนกับการรักษาทางแพทย์ทั่วไป ซึ่งต้องการความร่วมมือจากคนไข้ เช่น การรักษาเวลานัด การมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามนัด การรักษาความสะอาด การใช้เครื่องมือตามที่ทันตแพทย์สั่ง การเลิกสูบบุหรี่และ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. ถ้าท่านมีความผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร เช่น มีเสียงคลิก Clicking ขณะอ้าและหุบปาก เป็นต้น ท่านจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาความผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกรก่อน จึงจะสามารถรับการรักษานี้ได้ ( อ่านรายละเอียดในหัวข้อการรักษาความผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร )
3. การรักษานี้ ในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก สามารถให้บริการคนไข้ได้ในหลายช่วงอายุ ตั้งแต่ 10-60 ปี
กลุ่มอายุที่เหมาะแก่การทำศัลยกรรมขากรรไกร คือกลุ่มที่หมดการเจริญเติบโตแล้ว กลุ่มอายุที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด หรือ ให้ผลดีที่สุดได้แก่ คนไข้ในกลุ่มอายุ 19-24 ปี ที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทางระบบอื่นๆ ที่จะเข้ามาเป็นอุปสรรคของการรักษาเนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วกลุ่มอายุนี้มีพลังและศักยภาพของการรักษาตัวเองดีมาก ( Natural Healing Power ) สูงที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แต่ในบางกรณีก็ไม่สามารถให้การรักษาได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปาก สุขภาพกาย และจิตใจของคนไข้
ในกรณีที่คนไข้มีความผิดปรกติเกี่ยวกับตำแหน่งของฟัน และ ขากรรไกรมากๆ (Severe Dental and Skeletal Malocclusion) จึงควรได้รับการรักษาทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
4.การรักษานี้ก็เหมือนกับการรักษาทางแพทย์ทั่วไป มีความเสี่ยง หรือผลข้างเคียงของการรักษาอยู่ด้วย แพทย์ไม่สามารถให้คำรับรอง หรือค้ำประกันผลของการรักษาได้ แม้แต่ในกรณีที่ได้รับการรักษาที่ดีแล้ว ก็อาจมีการคืนตัว กลับสู่ทิศทางเดิมบ้าง ( Relapse ) แม้จะไม่ใช่สภาวะเดิม อย่างไรก็ดี การรักษานี้จะให้ผลที่ดีกว่าภาวะดั้งเดิมก่อนการรักษามาก ถ้าหากแพทย์ผู้ให้การรักษามีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์สูง ความเสี่ยง หรือผลข้างเคียงของการรักษาจะถูกจัดให้อยู่ในระดับต่ำสุด หรืออยู่ในวิสัยที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้
5.ระยะเวลาของการรักษา (Treatment Time) ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละกรณี และเทคนิคที่ใช้ อาจใช้เวลา ตั้งแต่ 12 – 24 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนไข้ด้วย อาจแบ่งการรักษา (Time line) ออกเป็น 4 ระยะคือ
5.1 การจัดฟันสำหรับเตรียมการเพื่อการผ่าตัด ( Pre-surgical Orthodontics) ทันตแพทย์จะเตรียมฟันและขากรรไกรให้ เหมาะที่จะทำการผ่าตัด ( Decompensation and Coordination of the Dental Arches ใช้เวลาประมาณ 3-12 เดือน ในรายที่ยาก อาจใช้เวลาถึง 20 เดือน ระยะนี้ใบหน้าของคนไข้อาจดูแย่ลงกว่าเดิมซึ่งเป็นผลมาจากการทำ Decompensation
ในช่วงเวลาของการจัดฟันสำหรับเตรียมการเพื่อการผ่าตัด ทันตแพทย์อาจต้องพิจารณาถอนฟันแท้ออกบ้างเพื่อทำให้เกิด การสบฟันที่ดีหลังการผ่าตัด หากท่านมีฟันคุดอยู่ในขากรรไกรล่าง จะต้องทำการผ่าเอาออก อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการผ่าตัดขากรรไกร เพื่อป้องกันขากรรไกรล่างหักขณะทำการผ่าตัด
5.2 ในกรณีที่ท่านมีปัญหา ขากรรไกรบนแคบ หรือมีการสบฟันหลัง แบบไขว้ (Cross-bite) ท่านอาจจะต้องการการผ่าตัดขากรรไกรบนก่อนเพื่อลดแรงต้านของกระดูก ร่วมกับการขยายขากรรไกรบน ด้วยเครื่องมือ Rapid Maxillary Expander (RME) และทิ้งไว้ ประมาณ 9-12 เดือน ก่อนได้รับการจัดฟันสำหรับเตรียมการเพื่อการผ่าตัดครั้งต่อไป ( Pre-surgical Orthodontics )
5.3 การเตรียมการเพื่อการผ่าตัด ( Count Down to Surgery ) ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ เริ่มจากการตรวจร่างกาย การเก็บเลือดของท่าน จำนวน 2 ถุง เพื่อใช้ในห้องผ่าตัด การอธิบายวิธีศัลยกรรมที่ใช้ ลำดับขั้นตอนต่างๆ การเตรียมการวางแผนการผ่าตัด การคำนวณตำแหน่งใหม่ของขากรรไกรมีหน่วยเป็น มิลลิเมตร (ระยะที่ห่างจากตำแหน่งเดิมใน 3 มิติ) การบันทึก ระยะอ้าปาก และตำแหน่งของข้อต่อขากรรไกรก่อนการผ่าตัด เตรียมการจัดทำแบบ ( Surgical Splints ) ที่จะใช้ยึดขากรรไกรขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด หลายรายพบว่าการสอนการปฏิบัติ
อานาปานสติ 6 เดือนก่อนการผ่าตัดมีประโยชน์มากต่อคนไข้
5.4 การผ่าตัด ( Surgery ) การทำศัลยกรรม จะใช้เวลาประมาณ 4 -5 ชม. ขากรรไกรจะถูกยึดเข้าด้วยกันด้วย Screw และ แผ่นโลหะเล็กๆ ตำแหน่งของข้อต่อขากรรไกรหลังการผ่าตัด จะต้องอยู่ใกล้เคียงกับ ตำแหน่งของข้อต่อขากรรไกรก่อนการผ่าตัด คนไข้จะได้รับการเฝ้าระวังอย่างดีในห้องผู้ป่วยพิเศษ ( Intensive care unit ) ขากรรไกรจะถูกมัดติดกัน ( Fixation ) อยู่ประมาณ 14 วัน ถ้าการทำศัลยกรรมทำเฉพาะในขากรรไกรบนเท่านั้น การมัดฟันให้ติดกันนี้
( Fixation ) จะไม่มีความจำเป็น
การมัดฟันให้ติดกันนี้จำเป็นต่อการหายของแผลและกระดูก โดยต้องการให้เกิดขึ้นภายใต้การหยุดการทำงานของกล้ามเนื้อ เอ็นและกระดูกชั่วคราว โดยที่ทันตแพทย์ต้องการให้เกิดผลเสียต่อคนไข้น้อยที่สุด ( เมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นที่มีการมัดฟันติดกันอยู่ 4-6 สัปดาห์ ) แต่ท่านก็ยังสามารถ พูด และทานอาหารเหลวได้ อาจจะมีน้ำหนักตัวลดลงบ้าง โดยเฉลี่ยประมาณ 5 กก. คนไข้จะใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน
ท่านควรมีระยะเวลาพักฟื้นไม่ไปทำงานประมาณ 3 สัปดาห์ ระยะนี้ท่านไม่ควรรับการเยี่ยมจากญาติและเพื่อนฝูงมากนัก เพราะอาการบวมที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดแม้จะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดคำติชมที่ไม่เหมาะสม ( Nonprofessional comments ) ที่จะทำให้ท่านเขวได้
หลายท่านอาจมีคำถามว่า “ แล้วเจ็บมากไหม? “ เชื่อหรือไม่ว่ามีอาการเจ็บแผลเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนมากไม่เจ็บเลย แต่อาการบวมที่เกิดขึ้นมีทุกราย จะมาก จะน้อยขึ้นอยู่กับความชำนาญของศัลยแพทย์ และคุณภาพของเนื้อเยื่อของแต่ละบุคคล
ในกรณีที่มีการผ่าตัดขากรรไกรบน ท่านไม่ควรเดินทางโดยการบินในระยะเวลา 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพราะการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ อาจทำให้แผลผ่าตัดในฟันบนที่ยังไม่หายดีมีการรั่วได้
8 สัปดาห์ หลังการผ่าตัดทันตแพทย์จะทำกายภาพบำบัดให้แก่ท่านเพื่อที่ท่านจะได้สามารถทำการเคลื่อนไหวขากรรไกรได้เป็นระยะเท่าเดิม
5.5 การจัดฟันหลังการผ่าตัด ( Post-surgical Orthodontics ) ท่านจะต้องพบทันตแพทย์ทุกสัปดาห์เพื่อที่จะป้องกันการเคลื่อนตัวไปในทิศที่ไม่พึงประสงค์ของขากรรไกร ( Post-surgical Relapse )
หลังจากที่ขากรรไกรถูกมัดติดกัน ( Fixation ) อยู่ประมาณ 14 วัน ทันตแพทย์จัดฟันจะทำการดึงขากรรไกรต่อ บนแบบ ( Surgical Splints ) ด้วย Elastics ขนาดพิเศษ เพื่อควบคุม Post-surgical Relapse ต่ออีก ประมาณ 14 วัน ท่านจะสามารถทานอาหารที่มีความแข็งมากขึ้นได้ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการหายของแผลและกระดูก (ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การทำงานของกล้ามเนื้อ เอ็นและกระดูก อันเป็นผลดีต่อคนไข้)
สัปดาห์ที่ 8 ทันตแพทย์ จะเริ่มปรับการสบฟันให้เข้าสู่ตำแหน่งสุดท้าย ใช้เวลาประมาณ 9 -12 เดือนเพื่อให้เกิดการหายที่สมบูรณ์ ( Tissue reorganization)
ใบหน้าของคนไข้จะเริ่มเข้าที่ในเวลาประมาณ 3 เดือน
หลังการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ท่านมีความจำเป็นที่จะต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน
( Retainer ) ซึ่งอาจจะเป็นชนิดถอดได้ สำหรับใส่ในเวลากลางคืน หรือชนิดติดแน่นสำหรับใส่ตลอดเวลา การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันในผู้ใหญ่หลายราย อาจต้องการใช้เครื่องมือคงสภาพฟันตลอดชีวิต เครื่องมือจัดฟันจะถูกนำเอาออก และแทนที่ด้วยเครื่องมือคงสภาพฟัน
ประมาณ 1 ปีต่อมาคนไข้จะได้รับการแนะนำให้ผ่าตัดเอา screws และ แผ่นโลหะ plates ที่ยึดขากรรไกรไว้ออก
6. การรักษานี้เป็นการรักษาที่มีลักษณะเฉพาะในคนไข้แต่ละราย ( Individual Treatment) แต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกัน เช่น แม้จะได้รับการรักษาโดยเทคนิคเดียวกัน โดยทันตแพทย์ท่านเดียวกัน ก็อาจได้ผลต่างกัน การรักษาโดยเทคนิคเดียวกันในคนไข้ที่มีอายุต่างกัน ก็จะได้ผลต่างกันด้วย การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร มีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของใบหน้าของท่าน ในทางที่ดีขึ้น แต่ละกรณีอาจมีการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน เช่น บางรายมีการเปลี่ยนแปลงมากเห็นได้ชัดถึงขนาดที่ท่านต้องทำการเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ แต่ในบางรายกลับเห็นการเปลี่ยนแปลงได้น้อยจนอาจทำให้คนไข้คิดว่าไม่คุ้มกับการผ่าตัด ดังนั้นท่านจึงไม่ควรตั้งความหวังไว้สูงเกินไป ทันตแพทย์ไม่สามารถเปลี่ยนใบหน้าของท่านให้กลายเป็นดาราภาพยนตร์ได้
7. การตัดสินใจทำการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ร่วมกับศัลยกรรม ควรได้รับการวางแผนให้สอดคล้องกับแผนชีวิตส่วนตัว ควรทำต่อเนื่องให้จบโดยเร็ว ไม่ควรพักระหว่างทาง การตัดสินใจเริ่มและจบการรักษา ควรใช้ทันตแพทย์ชุดเดียว การเปลี่ยนทันตแพทย์ เนื่องจากการย้ายภูมิลำเนาด้วยเหตุผลทางอาชีพหรือการศึกษา เช่น การไปทำงาน หรือเรียนต่อต่างประเทศขณะที่มีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในปากไม่ควรกระทำ เพราะการเปลี่ยนทันตแพทย์ก็คือการเปลี่ยนแผนการรักษา อาจนำความยุ่งยากมาสู่ตัวท่าน และทำให้ระยะเวลาของการรักษายาวขึ้นหรือไม่ได้ผลตามที่หวังไว้
ท่านไม่ควรตั้งครรภ์ระหว่างการรักษา หากท่านประสงค์ที่จะมีบุตรในระหว่าง 2 ปี ข้างหน้า ท่านไม่ควรตัดสินใจเริ่มทำการจัดฟันร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร ทันตแพทย์ไม่สามารถให้การรักษานี้แก่ท่านที่ตั้งครรภ์ได้
ท่านไม่ควรใช้ราคาเป็นเครื่องตัดสินใจ ควรใช้ความรู้ความสามารถของทันตแพทย์เป็นเกณฑ์ ร่วมกับวิจารณญาณ พึงระลึกเสมอว่า ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา หลังการผ่าตัดขากรรไกรอาจเคลื่อนตัวกลับไปในทิศทางเดิม ถ้าสิ่งต่างๆนี้เกิดขึ้น จะต้องทำการผ่าตัดแก้ตัว ใครหรือไม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใหม่ที่จะเกิดขึ้น………….
การรักษานี้ ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1970 ในสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้ทันตแพทย์จัดฟัน และศัลยแพทย์ขากรรไกรจะแยกกันทำการรักษาคนไข้ประเภทนี้ ผลปรากกว่าศัลยแพทย์และทันตแพทย์ ต่างก็ได้ผลการรักษาที่ไม่น่าพอใจทั้งคู่ ต่อมาจึงได้มีการร่วมมือให้การรักษาร่วมกัน ทำให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจมากขึ้น
ในปี 1980 ทพ.ชวาล สมศิริ ได้เริ่มทำการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคนิคพิเศษนี้ ร่วมกับ ภาควิชาศัลยกรรมช่องปาก ขากรรไกรและใบหน้า มหาวิทยาลัย Frankfurt/M. โดยนำการรักษามาจาก ระบบการจัดฟันของอเมริกัน มาประกอบกับความรู้ทางศัลยกรรมของเยอรมัน และการรักษาความผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร เทคนิคนี้ใช้สอน ณ. ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Frankfurt/M. เป็นเวลา 12 ปี (1982-1994) และพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทันตกรรมจัดฟันของประเทศเยอรมนี และวารสารศัลยกรรมช่องปาก ขากรรไกรและใบหน้าของยุโรป
มีคนไข้ที่ได้รับการบำบัดรักษาโดยเทคนิคพิเศษนี้จนถึงปี 1994 มากกว่า 450 ราย
ทันตแพทย์ชวาล สมศิริ
ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
รองหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Frankfurt/M. (1982-1994), Staff,
หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมจัดฟันและการรักษาความผิดปรกติของข้อต่อขากรรไกร และได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมจัดฟัน จากทันตแพทยสภา ประจำรัฐ Hessen, Germany ในปี 1982 ( Diplomate, German Board of Orthodontics )
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Website: www.dental-tmd.com
ทันตกรรมจัดฟัน-ร่วมกับศัลยกรรมขากรรไกร ( Surgical Orthodontics )
ที่ทำงานปัจจุบัน
ศูนย์ทันตกรรมจัดฟัน และข้อต่อขากรรไกร Orthodontic and Jaw Joint (TMD) Center
31/70 ซอย แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 34, ถนนแจ้งวัฒนะ อ. ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
โทร. 02-574-0555, 02-574-6556, 02-984-4568 Fax 02-573-4050
Copyright : Orthodontic and Jaw Joint (TMD) Center
Tel. 0-2574-0555, 0-2574-6556, 087-700-9919 Fax. 0-2573-4050
Office Hour : 10.00 AM – 7.00 PM [closed on Mondays]
website: http://www.dental-tmd.com
email : schwansomsiri911@gmail.com
v. 2013.01.01